สูตร “ย่านาง” ราชินี พืชฤทธิ์เย็น บำบัดโรคร้ายได้มากมาย
“ย่านาง” เป็นพืชฤทธิ์เย็นที่ได้รับการขนานนามว่า “ราชินีพืชฤทธิ์เย็น” ใช้ในการบำบัดโรคที่เกิดจาภาวะไม่สมดุลในร่างกาย มีความร้อนเกิน และร่างกายเป็นกรดสูงได้มากมายหลายโรค ใช้เป็นอาหารและยามาตั้งแต่โบราณ หมอยาโบราณภาคอีสานเรียกชื่อทางยาของย่านางว่า “หมื่ปี บ่ เฒ่า” แปลเป็นภาษากลางว่า “หมื่นปีไม่แก่”
การใช้สรรพคุณทางยาใช้ได้ทั้งใบและราก แต่ปัจจุบันนิยมใช้ “ใบ” กันมากเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ คือ
- ไข้ขึ้น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดหัว ตัวร้อน
- มีสิว ฝ้า ตกกระสีน้ำตาลหรือสีดำตามร่างกาย
- เส้นเลือดฝอยแตกใต้ผิวหนัง มีรอยจ้ำเขียวคล้ำ
- ปวดบวมแดงร้อนตามร่างกายหรือตามข้อ
- กล้ามเนื้อเกร็งค้าง กดเจ็บ หรือเป็นตะคริวบ่อยๆ
- ผิวหนังผิดปรกติคล้ายรอยไหม้ เกิดฝีหนอง
- น้ำเหลืองเสียตามร่างกาย เป็นเริม งูสวัด
- ท้องผูก อุจจาระแข็ง หรือเป็นก้อนเล็กๆ คล้ายขี้แพะ หรือท้องเสียแทรก
- ปัสสาวะน้อย สีเข้ม ปัสสาวะบ่อย แสบขัด เป็นหนักๆ เป็นสีน้ำล้างเนื้อมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ มักลุกปัสสาวะช่วงเที่ยงคืนถึงตี 2 คนร่างกายปรกติสมดุลจะไม่ตื่นปัสสาวะกลางดึก
- ตาแดง ตาแห้ง แสบตา ปวดตา ตามัว ขี้ตาข้น เหนียว หรือไม่ค่อยมีขี้ตา
- มีตุ่มแผลออกร้อนในช่องปาก เหงือกอักเสบ
- หายใจร้อน เสมหะเหนียวข้น ขาวขุ่น สีเหลืองหรือสีเขียว บางทีเสมหะพันคอ
- นอนกรน ปากคอแห้ง ริมฝีปากแห้งแตกเป็นขุย
- ผมหงอกก่อนวัย
- ขุมขนขยายโดยเฉพาะบริเวณหน้าอก คอ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
- มีผื่นที่ผิวหนัง ปื้นแดงคัน หรือมีตุ่มใสคัน
- ร้อนท้อง แสบท้อง ปวดท้อง บางครั้งมีอาการท้องอืดร่วมด้วย
- เลือดกำเดาออก
- มักง่วงนอนหลังกินข้าวอิ่มใหม่ๆ
- อาการไหล่ติด หากเป็นมากจะยกแขนขึ้นไม่สุด ไหล่ติด เป็นต้น
สูตรรากแห้ง : แก้ไข้ทุกชนิด
วิธีและปริมาณที่ใช้
ใช้รากแห้งของย่านางครั้งละ 15 กรัม ต้มกับน้ำ ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง
สูตรใบ : แก้ได้หลายอาการ (สูตรหมอเขียว)
- เด็ก ใช้ใบย่านาง 1-5 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
- ผู้ใหญ่ที่รูปร่างผอม บาง เล็ก ทำงานไม่ทน ใช้ 5-7 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
- ผู้ใหญ่ที่รูปร่างผอม บาง เล็ก ทำงานทน ใช้ 7-10 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
- ผู้ใหญ๋ที่รูปร่างสมส่วนถึงตัวโต ใช้ 10-20 ใบ ต่อน้ำ 1-3 แก้ว
วิธีทำ
นำใบย่านางสดมาโขลกให้ละเอียดแล้วเติมน้ำ หรือขยี้ใบย่านางกับน้ำ หรือปั่นในเครื่องปั่น แต่ตำราว่าการปั่นในเครื่องไฟฟ้าจะทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง เนื่องจากความร้อนจะไปทำลายความเย็นของย่านาง (ให้เติมน้ำแข็งลงไปขณะปั่น 4-5 ก้อน) กรองผ่านกระชอนหรือผ้าขาวบาง เก็บไว้เฉพาะน้ำ
วิธีกิน
ดื่มครั้งละครึ่งแก้วถึง 1 แก้ว วันละ 2-3 เวลา ก่อนอาหาร ตอนท้องว่าง หรือผสมเจือจางดื่มแทนน้ำเปล่า ในอุณหภูมิห้องปรกติ ควรดื่มภายใน 4 ชั่วโมง หลังจากทำน้ำย่านาง เพราะถ้าเกิน 4 ชั่วโมง มักจะมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่เหมาะที่จะดื่มจะทำให้เกิดภาวะร้อนเกิน
สามารถแช่ในน้ำแข็งหรือตู้เย็นเก็บไว้ได้ ไม่ควรเกิน 3-7 วัน ให้สังเกตกลิ่นเริ่มเหม็นเปรี้ยวห้ามกิน