ผู้สูงอายุกับการหกล้ม
เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่างที่อาจทำให้หกล้มได้ง่าย เช่น การมองเห็นลดลง การทรงตัวไม่ดี ร่วมกับการที่อาจมีโรคต่างๆ เกิดร่วมด้วย จึงทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสหกล้มได้ง่าย การหกล้มเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอบุัติเหตุในผู้สูงอายุที่ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 85 ของสาเหตุทั้งหมด
การเดินเซ ไม่มั่นคงในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ คือการหกล้ม และผลเสียของการหกล้ม คือ อาจทำให้กระดูกหักและเลือดคั่งในสมองได้ ผู้สูงอายุบางรายไม่สามารถกลับมาเดินเหมือนเดิมได้อีก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการที่ต้องนอนนิ่งอยู่กับที่ โดยพบว่าผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20-30 จะมีประวัติการหกล้มในรอบ 1 ปี ผู้สูงอายุที่หกล้ม 40 คนมี 1 คนที่ต้องนอนโรงพยาบาล และในผู้สูงอายุที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพราะหกล้ม มีเพียงครึ่งเดียวที่สามารถอยู่ได้นานถึง 1 ปี ดังนั้นเราควรให้ความใส่ใจกับปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุเดินเซ ไม่มั่นคงเพื่อป้องกันการหกล้มต่อไป
ปัญหาแทรกซ้อน
- หากมีการหกล้มเกิดขึ้น ปัญหาที่อาจะเกิดตามมา ได้แก่
- บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
- เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบาดเจ็บ
- กระดูกหัก โดยตำแหน่งที่หักบ่อยๆ ได้แก่ กระดูกข้อสะโพก กระดูกต้นขา กระดูกต้นแขน กระดูกข้อมือ กระดูกซี่โครง และกระดูกสันหลัง
- เลือดคั่งในกะโหลดศีรษะ ในผู้สูงอายุสมองจะเหี่ยวลง หลอดเลือดที่เชื่อมระหว่างสมองกับกะโหลกศีรษะจึงถูกดึงรั้งได้ง่าย และหลอดเลือดมีความเปราะบางมากขึ้น ทำให้เกิดการฉีกขาดได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และเลือดออกจากหลอดเลือดมาอยู่ในกะโหลกศีรษะ
- ต้องนอนโรงพยาบาลและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการอยู่นิ่งกับที่ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดความเสี่ยงจากการรับการรักษาพยาบาลอีกด้วย
- เกิดภาวะทุพพลภาพ เดินได้ไม่ดีเหมือนเดิม เกิดความกลัว ขาดความั่นใจในการเดิน ทำให้ต้องอยู่กับที่
- อาจต้องไปอยู่ในสถานพักฟื้นคนชรา
- เสียชีวิต
สาเหตุ
เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง รวมถึงมีโรคและความผิดปกติต่างๆ ที่อาจส่งผลให้เดินเซ ไม่มั่นคง และหกล้ม ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของการทรงตัว เมื่ออายุมากขึ้นการรับรู้ตำแหน่งของข้อเปลี่ยนแปลงไป กล้ามเนื้อมีความตึงตัวลดลงและชวนเซง่ายขึ้นบางครั้งเวลาลุกยืนความดันโลหิตอาจลดต่ำลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน เกิดอาการวิงเวียนหน้ามืดได้
- การเดิน ผู้สูงอายุมักเดินยกเท้าไม่สูงเท่าคนหนุ่มสาว มีลักษณะการก้าวเดินเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้ชายอาจเดินคู้ๆ ขาแยกกันกว้างกว่าเดิมซอยเท้าถี่ขึ้น ผู้หญิงอาจเดินเหมือนเป็ดมากขึ้น ซึ่งมักเป็นไม่มาก แต่ก็อาจส่งผลให้การก้าวเดินเปลี่ยนแปลงไป
- โอกาศเกิดโรคที่มีผลต่อการทรงตัว โรคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทรงตัว มักเริ่มเป็นในวัยกลางคนจนถึงวัยชรา ทำให้มีโอกาสเดินเซไม่มั่นคงได้เมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งได้แก่
- โรคทางข้อและกระดูก เช่น
- โรคข้อเสื่อม โดยเฉพาะข้อเข่าเสื่อม ทำให้ลุกจากเก้าอี้ลำบากและเดินก้าวขาได้ไม่ดีเหมือนเดิม
- กระดูกสันหลังคดเอียง ทำให้เสียศูนย์การทรงตัว
- กระดูกคอเสื่อมและหมอนรองกระดูกทับไขสันหลัง ทำให้เดิน เกร็งๆ ขาไม่ค่อยมีแรง
- กระดูกข้อสะโพกหัก
- เท้า นิ้วเท้า และเล็บเท้า ผิดรูปหรือมีความผิดปกติ
- โรคทางระบบประสาท เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้มีอาการอัสมพฤกษ์หรืออัมพาต แขน ขาอ่อนแรงหรือเกร็ง
- โรคพาร์คินสัน ทำให้มีอาการสั่น เกร็งแข็ง ทำอะไรช้าลง เดิน ก้าวสั้นๆ ซอยเท้าถี่ และหมุนตัวกลับได้ลำบาก
- ภาวะสมองเสื่อม
- ปลายประสาทเสื่อม ทำให้เท้าชา ไม่ค่อยรับรู้การเดิน
- เวียนศีรษะ มึนงง
- กล้ามเนื้อ่อนแรงจากการที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่นต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานๆ เมื่อเจ็บป่วย
- การมองเห็นและการได้ยินผิดปกติ
- โรคหัวใจ ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกแรง
- โรคต่างๆ ที่ทำให้ต้องตื่นมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ เช่น ต่อมลูกหมากโต โรคเบาหวาน
- ยา ยาหลายชนิดที่ผู้สูงอายุได้รับ อาจมีผลข้างเคียงทำให้เสียการทรงตัวได้ตัวอย่างยาเหล่านี้ ได้แก่
- ยาขับปัสสาวะ ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย สารน้ำในร่างกายลดลง อาจหน้ามืดเวลาลุกเดิน (มักเกิดเฉพาะในบางรายที่มีความเสี่ยงอยู่เดิม) หรือเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อไม่ค่อยมีแรง
- ยาลดความดันโลหิต อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลงมาก เวลาลุก ขึ้นยืน จึงมีอาการมึนงงและหน้ามืด
- ยาทางจิตเวช เช่น ยารักษาโรคจิตเภท ยาต้านอารมณ์ซึมเศร้า ยานอนหลับ
- ยารักษาโรคเบาหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดอาการ ใจสั่น ไม่มีแรง และหมดสติ
นอกจากสาเหตุด้านการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่อาจทำให้เกิดการหกล้มแล้ว สาเหตุภายนอกร่างกายอย่างสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ก็อาจทำให้เกิดการหกล้มได้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
- เก้าอี้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่แข็งแรง อาจทำให้หกล้มได้ บางครั้งอาจพลิกงายหลัง หรือขาเก้าอี้ที่โยกเยกก็ทำให้หกล้มได้ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เก้าอี้หรือเตียงนอนที่มีะรับความสูงไม่เหมาะสม หากมีระดับต่ำเกินไปจะทำให้นั่งและลุกลำบาก เนื่องจากผู้สูงอายุมักข้อเข่าเสื่อมและกล้ามเนื้อต้นขาไม่มีแรง ทำให้ลุกแล้วทรงตัวไม่ได้
- โถส้วมที่มีความสูงไม่เหมาะสม ต้องนั่งยองๆ ทำให้ลุกลำบาก
- ทางเดินหรือห้องน้ำไม่มีที่ให้ยึดเกาะ
- พื้นลื่น พื้นไม่เรียบ มีที่กั้น สายไฟ หรือพรมกีดขวาง
- บันไดไม่มีราวจับหรือชั้นไม่เท่ากัน
- แสงสว่างไม่เพียงพอ
- สัตว์เลี้ยงหรือของเด็กเล่นอที่อาจขวางทางเดิน
การประเมินผู้ป่วย
- เมื่อเกิดปัญหาการหกล้ม โดยทั่วไปแพทย์จะประเมินผู้ป่วยหลายๆ ด้าน ไม่ใช่เพียงแค่ดูแลการบาดเจ็บจากการหกล้มเท่านั้น สิ่งที่แพทย์จะประเมิน ได้แก่
- ประเมินอาการบาดเจ็บจากการหกล้มและรักษาอาการนั้น โดยอาการที่สำคัญ ได้แก่ กระดูกหัก อาการบ่งชี้ว่าอาจมีเลือดคั่งในกะโหลกศีรษะบาดแผลฟกช้ำหรือฉีกขาด
- หาสาเหตุของการหกล้มและทำการแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้หกล้มอีก
- ให้ทำกายภาพบำบัดและให้คำแนะนำในการฝึกเดิน ฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การเปลี่ยนท่า การใช้รองเท้าที่เหมาะกับเท้า
- แนะนำการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการหกล้ม ในบางครั้งสภาพแวดล้อมภายในบ้านก่อนการหกล้มอาจไม่มีปัญหา แต่เมื่อผู้ป่วยเกิดการหกล้มและกระดูกหัก ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดีเหมือนเดิม จึงอาจมีความเสี่ยงต่อการหกล้มได้มากขึ้นในสภาพแวดล้อมเดิม ดังนั้นแพทย์จะประเมินความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่บ้าน เพื่อลดโอกาสในการหกล้มซ้ำ
การป้องกัน
- ให้มีแสงสว่างในบ้านเพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณบันได
- มีอุปกรณ์เครื่องเรือในบริเวณที่อยู่เท่าที่จำเป็น และต้องแข็งแรงมั่นคงอยู่สูงจากพื้น มองเห็นได้ง่าย ไม่ย้ายที่บ่อยๆ
- เตียงนอน เก้าอี้ และโถส้วมมีความสูงพอเหมาะ ไม่เตี้ยเกินไป
- ทางเดินและบันไดควรมีราวจับตลอด และขั้นบันไดสม่ำเสมอ
- พื้นห้องควรเรียบ ไม่มีขั้น และเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น โดยเฉพาะในห้องน้ำ บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างห้องควรอยู่ในระดับเดียวกัน และหลีกเลี่ยงการมีธรณีประตู
- ไม่ควรมีสิ่งของวางเกะกะ เช่น พรมเช็ดเท้าหรือสายไฟ
- วางของใช้ประจำวันในระดับที่ไม่ต้องก้ม เงย หรือเอื้อมมากเกินไป
- สวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่พอดี ไม่หลวมหรือรัดจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมวในบริเวณที่อยู่อาศัย
- ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช่น การมองเห็น การได้ยิน วัดความดันโลหิต และตรวจร่างกายประจำปีทุกปี
- ไม่กินยาที่ไม่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินยาใหม่ทุกครั้งและนำยาทั้งหมดไปให้แพทย์ดู
- ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มให้น้อยที่สุด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยนอกจากจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและข้อมีความยืดหยุ่นแล้ว ยังทำให้การทรงตัวดีขึ้นด้วย
- เปลี่ยนท่าช้าๆ เช่นลุกขึ้นยืนและเดินช้าๆ พยายามมองหาวัตถุรอบตัวที่สามารถเกาะยึดได้
- กรณีที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัวไม่ดี ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้าหรือคอกอะลูมิเนียมที่มี 4 ขา