โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า “โรคอัมพฤกษ์” หรือ “อัมพาต” เป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ แบ่ง 2 ชนิด คือ
- โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
- โรคหลอดเลือดสมองแตก
อาการ
โรคหลอดเลือดสมอง ทั้ง 2 ชนิดจะทำให้สมองส่วนที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอหรือมีก้อนเลือดเบียดในสมอง ทำให้สูญเสียการทำงานในการควบคุมการทำงานของร่างกายอย่างทันทีทันใด ทำให้เกิดอาการดังนี้
- อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
- ตามองไม่เห็นภาพซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งหมด
- มองเห็นภาพซ้อน
- มีความผิดปกติของการใช้ภาษา เช่น พูดไม่คล่อง ใช้ภาษาผิด ไม่เข้าใจภาษา
- เวียนศีรษะหรือรู้สึกบ้านหมุน
- ปวดศีรษะรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว กลืนลำบาก
- ความจำเสื่อมหรือหลงลืมอย่างทันทีทันใด
- ซึม หมดสติ
สิ่งที่สำคัญของโรคนี้คือ ต้องรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะจัดเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง เนื่องจากหากได้รับการทำเอกซเรย์สมองแล้วพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบเร็ว โดยควรทราบผลก่อน 4.5 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ (ในบางราย ต้องทราบผลภายใน 3 ชั่วโมง) อาจมีการให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งจะทำให้ลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองอยู่สลายไป ทำให้ฟื้นตัวได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อจำกัดของการให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งทางแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมถึงความปลอดภัยของการให้ยานี้ในผู้ป่วยแต่ละราย
หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้หลายลักษณะคือ บางคนจะดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง บางคนอาการแย่ลงภายใน 1-3 วันแรกจากการที่หลอดเลือดสมองมีการอุดตันมากขึ้น บางคนมีอาการมากที่สุดในตอนแรกของการเกิดอาการและคงที่ แต่บางคนเกิดปัญหาสมองบวมตามมา ซึ่งอาจทำให้อาการทรุดหนักและโดยทั่วไปมักเกิดภายใน 3-4 วันแรก หลังจากพ้นระยะนี้ไปจะเป็นช่วงฟื้นตัว ซึ่งแต่ละคนจะมีการฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน บางรายสามารถฟื้นได้เป็นปกติ บางรายอาจยังมีความพิการหลงเหลืออยู่
ปัจจัยเสี่ยง
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง โดยบางอย่างสามารถแก้ไขได้ ซึ่งนับเป็นการป้อนกันโรคที่ได้ผลดี อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น มีอายุมากหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นหลอดเลือดสมอง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ จะเป็นการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้แก่
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคหัวใจ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจผิดปกติและหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การสูบบุหรี่
- ปัจจัยเสี่ยงเสริมอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและควรแก้ไข เช่น ความอ้วน การขาดการออกกำลังกาย ภาวะเครียด การดื่มเหล้า การกินยาคุมกำเนิดระยะยาว
การป้องกัน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี วัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง และเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดเป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ
- ตรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติของหัวใจ หรือไม่ ถ้าพบว่าผิดปกติต้องควบคุมและติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากมีการพบว่า การเลิกสูบบุหรี่สามารถลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลงได้ครึ่งหนึ่ง
- ลดน้ำหนักถ้ามีน้ำหนักเกิน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ผ่อนคลายความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
- ในรายที่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ เช่นหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจแนะนำให้กินยากันเลือดแข็งตัว เพื่อป้องกันอัมพาตซึ่งควรปฏิบัติหัว และติดตามการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ถ้ามีอารที่สงสัยว่าอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองดังกล่าวข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที